พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย มีชื่อจริงว่า สินธุ์ กมลนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คนแรก, อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ, หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร และเป็นหัวหน้าคณะราษฎรสายทหารเรือ
หลวงสินธุสงครามชัย เกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2444 ที่ตำบลบ้านท่าจีน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร (บางข้อมูลระบุว่าเกิดที่ตำบลบางบ่อ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ) เป็นบุตรนายเล็ก-นางจู กมลนาวิน และมีศักดิ์เป็นน้องชายของพระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) จบการศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2457 จากนั้นเป็นนักเรียนหลวงไปเรียนการทหารเรือที่ประเทศเดนมาร์ก เมื่อ พ.ศ. 2462 เป็นเวลาถึง 10 ปี จากการที่เป็นน้องชายของพระยาราชวังสัน ซึ่งเป็นธรรมเนียมของครอบครัวทหารเรือในขณะนั้น ที่ทางรัฐบาลส่งเสริมให้บุตรชายคนโตของนายพลทหารเรือให้ได้รับทุนเล่าเรียนวิชาทหารเรือยังต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เป็นทหารเรือกัน เนื่องจากพระยาราชวังสันไม่มีบุตร จึงสนับสนุนน้องชายตนเอง
ชีวิตครอบครัว สมรสกับนางสาวจินตนา นุติประภา มีบุตรด้วยกันทั้งสิ้น 4 คน หลวงสินธุสงครามชัยถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2519 สิริอายุ 75 ปี
หลวงสินธุสงครามชัย ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎร ขณะยังศึกษาอยู่ยังโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ ประเทศเดนมาร์ก เมื่อเดินทางไปเยือนกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างช่วงพักการเรียน จึงได้รับการชักชวนผ่านทางนายทวี บุณยเกตุ สมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน
เมื่อกลับมายังประเทศไทยแล้ว หลวงสินธุสงครามชัย ยังได้หาพรรคพวกเพิ่มเติมในสายทหารเรือเพิ่มขึ้นอีกหลายคน เช่น หลวงศุภชลาศัย, หลวงนิเทศกลกิจ, หลวงสังวรยุทธกิจ, หลวงนาวาวิจิตร, หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นต้น และยังให้แต่ละคนไปหาพรรคพวกเพิ่มขึ้นอีกอย่างละไม่เกิน 3 คน เพื่อกันความลับรั่วไหล รวมทั้งสิ้นมีกองกำลังทหารเรือในคณะราษฎรจำนวน 24 นาย แต่เมื่อถึงเวลาปฏิวัติจริง ๆ แล้วใช้เพียง 18 นาย เนื่องจากอีก 6 นายที่เหลือนั้น สังกัดโรงเรียนชุมพลทหารเรือ และกรมสรรพาวุธทหารเรือ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตตำบลปากน้ำ และเขตตำบลบางนา จังหวัดสมุทรปราการ อันอยู่ห่างไกลจากจุดที่เกิดเหตุ แต่ทั้งหมดก็ตกลงกันว่า หากเกิดเหตุการณ์อันใดขึ้นแล้ว ก็จะใช้กำลังที่มีอยู่ยึดอำนาจภายในโรงเรียนและกรม
โดยในเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แผนการของสายทหารเรือก็คล้ายคลึงกับสายทหารบก คือ ลวงเอากำลังทหารและอาวุธออกมาใช้ โดยอ้างว่าจะนำไปปราบกบฏ หลวงสินธุสงครามชัย ในฐานะหัวหน้าคณะราษฎรสายทหารเรือ ขณะนั้นมียศเป็น นาวาตรี (น.ต.) และมีตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียนนายทหาร ได้นำกำลังทหารเรือประมาณ 400 นายเศษ พร้อมอาวุธครบมือ และกระสุนจำนวน 45,000 นัด ซึ่งงัดมาจากคลังอาวุธ กองพันพาหนะทหารเรือ (หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ในปัจจุบัน) ไปยึดสถานที่ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ยาวไปจนถึงเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ตั้งแต่ก่อนเวลา 06.00 น. โดยเริ่มกันตั้งแต่เวลา 03.00 น. ที่จุดนัดพบ คือ ท่าราชวรดิฐ เพื่อรอคอยกำลังของฝ่ายทหารบก ภายใต้การนำของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช มาสมทบ อีกทั้งยังได้ให้ทหารเรือส่วนหนึ่ง นำโดย หลวงนิเทศกลกิจ เข้าคุ้มกันคณะของ หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) และนายประยูร ภมรมนตรี ในการตัดสายโทรศัพท์และโทรเลข ที่กรมไปรษณีย์โทรเลข (ไปรษณียาคาร) หน้าวัดราชบุรณราชวรวิหาร (วัดเลียบ) ในเวลา 04.00 น. และสั่งให้ทหารเรือประจำเรือยามฝั่ง และเรือปืนต่าง ๆ ติดเครื่องยนต์ ล่องในลำน้ำเจ้าพระยา เพื่อทำการปฏิวัติ โดยแผนการทั้งหมดของฝ่ายทหารเรือ หลวงสินธุสงครามชัย เป็นผู้วางแผนเองทั้งหมด
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว หลวงสินธุสงครามชัย รับตำแหน่งรัฐมนตรีที่ไม่ได้ประจำกระทรวง (รัฐมนตรีลอย), รักษาราชการตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ ระหว่าง พ.ศ. 2477-2478 และดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ ระหว่าง พ.ศ. 2481-2494 เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ (พ.ศ. 2478-2484), กระทรวงเศรษฐกิจ (พ.ศ. 2485), กระทรวงเกษตราธิการ (พ.ศ. 2485-2488) และกระทรวงกลาโหม (พ.ศ. 2487-2488) นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นคนแรกอีกด้วย (พ.ศ. 2486–2488)
ในเวลาต่อมาเมื่อรัฐบาลจะยกเลิกบรรดาศักดิ์ไทย หลวงสินธุสงครามชัยในฐานะรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีชุดที่ 9 จึงลาออกจากบรรดาศักดิ์ โดยกลับไปใช้ชื่อเดิม
ภายหลังเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ในปี พ.ศ. 2494 หลวงสินธุสงครามชัย เป็นผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น ถูกปลดออกจากตำแหน่ง เนื่องจากคณะรัฐบาลโดย จอมพลป. พิบูลสงคราม เคลือบแคลงว่าอาจจะมีส่วนร่วมหรือรู้เห็นในการก่อกบฏ ซึ่งหลวงสินธุสงครามชัยได้รับโทษจำคุกเป็นเวลานานถึง 3 ปี ทั้งที่ไม่มีความผิด
นอกจากนี้แล้ว หลวงสินธุสงคราม ยังเป็นบุคคลแรกที่บัญญัติศัพท์คำว่า "เรือดำน้ำ" ขึ้นมาในภาษาไทย โดยเรียกตามลักษณะการใช้งาน เป็นผู้ที่จัดหาเรือดำน้ำมาใช้ในราชการกองทัพเรือด้วย ทั้งหมด 3 ลำ (เรือหลวงมัจฉานุ, เรือหลวงสินสมุทร, เรือหลวงพลายชุมพล) ขณะที่ดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองทัพเรือ ในปี พ.ศ. 2478
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ? พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ? สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ? พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ? พระยาชลยุทธโยธินทร์ ? สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ? สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ? พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ? สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา ? พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ? พระยาปรีชาชลยุทธ (วัน จารุภา) ? พระยาวิชิตชลธี (ทองดี สุวรรณพฤกษ์) ? สินธุ์ กมลนาวิน ? พระยาวิจารณจักรกิจ ? หลวงพลสินธวาณัติก์ (เปล่ง พลสินธ์ สมิตเมฆ) ? หลวงยุทธศาสตร์โกศล ? หลวงชำนาญอรรถยุทธ์ (เอื้อน กุลไกรเวส) ? สวัสดิ์ ภูติอนันต์ ? หม่อมเจ้าครรชิตพล อาภากร ? จรูญ เฉลิมเตียรณ ? ถวิล รายนานนท์ ? กมล สีตกะลิน ? เฉิดชาย ถมยา ? สงัด ชลออยู่ ? อมร ศิริกายะ ? กวี สิงหะ ? สมุทร์ สหนาวิน ? สมบูรณ์ เชื้อพิบูลย์ ? ประพัฒน์ จันทวิรัช ? นิพนธ์ ศิริธร ? ธาดา ดิษฐบรรจง ? ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ? วิเชษฐ การุณยวนิช ? ประเจตน์ ศิริเดช ? วิจิตร ชำนาญการณ์ ? สุวัชชัย เกษมศุข ? ธีระ ห้าวเจริญ ? ประเสริฐ บุญทรง ? ทวีศักดิ์ โสมาภา ? ชุมพล ปัจจุสานนท์ ? สามภพ อัมระปาล ? สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ? กำธร พุ่มหิรัญ ? สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ? ณรงค์ พิพัฒนาศัย ? ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ? ณะ อารีนิจ
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/หลวงสินธุสงครามชัย_(สินธุ์_กมลนาวิน)